สินค้าทำเองกับมือ ขายดี

03 มีนาคม, 2554

ดาวอังคารมีแรงดึงดูดตอจินตนาการของมนุษย์มาแต่ไหนแต่ไร คนโบราณมองดาวแดงดวงนี้ว่าเป็นดาวอุบาทว์หรือดาวแห่งความรุนแรง ชาวกรีกยกให้เป็นดาวของแอเรส (Ares) เทพแห่งสงคราม ชาวบาบิโลเนียเรียกว่าเนอร์กัล(Nergal) ตามชื่อเทพผู้เป็นใหญ่ในปรโลก ชาวจีนโบราณเรียกว่า อิ๋งหั่ว(Ying-huo) แปลว่าดาวไฟ แม้โคเปอร์นิคัสได้เสนอเมื่อปี 1543 ว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล ไม่ใช่โลก แต่ความผิดเพี้ยนในเส้นทางโคจรของดาวอังคารยังคงเป็นเรื่องชวนฉงน จนกระทั่งถึงปี 1609 เมื่อโยฮันเนส เคปเลอร์ ได้วิเคราะห์ว่าดาวเคราะห์ทั้งหมดโคจรเป็นวงรีรอบดวงอาทิตย์ในปีเดียวกันนั้น กาลิเลโอก็ใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตดาวอังคารเป็นครั้งแรก พอถึงกลางศตวรรษที่สิบเจ็ดกล้องโทรทรรศน์พัฒนาจนเห็นความเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของพืดน้ำแข็งที่ขั้วดาวซึ่งขยายตัวหรือหดลง และลักษณะภูมิประเทศต่างๆอย่างเขตซีร์ทิสเมเจอร์ หรือปื้นดำที่เราเคยคิดว่าเป็นทะเลตื้นๆได้ ส่วนโจวันนี กัสซีนี สามารถสังเกตรูปลักษณ์บางอย่างได้ละเอียดพอจะคำนวณการหมุนรอบตัวเองของดาวอังคาร เขาสรุปว่าหนึ่งวันของดาวอังคารยาวนานกว่า 24 ชั่วโมงของโลกอยู่ 40 นาที เขาพลาดไป 3 นาทีเท่านั้น ขณะที่ดาวศุกร์เพื่อนบ้านซึ่งทั้งใกล้กว่าและใหญ่กว่าเร้นกายอยู่ในม่านเมฆหนาทึบ ดาวอังคารกลับอวดพื้นผิวที่เหมือนโลกมากจนเราคิดว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนนั้นกล้องโทรทรรศน์มีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้จะต้องส่องผ่านบรรยากาศหนาแน่นของโลกอันเป็นเหตุให้ภาพพร่าไหวก็ยังช่วยให้เกิดแผนที่ดาวอังคารอย่างละเอียด นักวาดแผนที่ดาวอังคารสายตาแหลมคมที่สุดคนหนึ่งคือ โจวันนี สเกียปาเรลลี ผู้ใช้คำว่า canali ในภาษาอิตาลีเรียกเส้นโยงใยระหว่างสิ่งที่เขาเห็นและคิดว่าเป็นห้วงน้ำ คำคำนี้จะแปลว่า ”ช่องทาง„ ก็ได้ แต่ถ้าแปลว่า ”คลอง„ จะถูกใจสาธารณชนมากกว่า โดยเฉพาะกับเพอร์ซิวาล โลเวลล์ เศรษฐีผู้ดีเก่าชาวบอสตัน ผู้ประกาศความเชื่อของเขาเมื่อปี 1893 ว่า คลองเป็นหลักฐานของอารยธรรมบนดาวอังคาร โลเวลล์เป็นนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นและผู้สนใจจริงจัง ไม่ใช่พวกสติเฟื่องเขาสร้างหอดูดาวขึ้นบนภูเขายอดราบ สูงจากระดับทะเลกว่า 2,000 เมตรใกล้เมืองแฟลกสแตฟฟ์ รัฐแอริโซนา โดยบอกว่าที่นี่ ”ห่างไกลกลุ่มควันของผู้คน„ ภาพดาวอังคารที่เขาวาดได้รับการยอมรับว่าดีกว่าของสเกียปาเรลลี แม้กระทั่งในหมู่นักดาราศาสตร์ที่ดูถูกทฤษฎีของเขา โลเวลล์เสนอว่า ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่กำลังจะตายชาวดาวอังคารผู้ชาญฉลาดกำลังต่อสู้กับความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากระบบคลองชลประทานที่ถ่ายและทดน้ำจากพืดน้ำแข็งขั้วดาวซึ่งกำลังหดลงเรื่อยๆภาพลักษณ์ของดาวอังคารดังกล่าว รวมทั้งแนวคิดชีวิตต้องสู้ของโลเวลล์ ถูกแปลงเป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์คลาสสิก เรื่อง สงครามล้างพิภพ หรือ The War of the Worlds (ปี 1898) โดย เอช. จี. เวลส์ ในนิยายเรื่องนี้ชาวดาวอังคารที่มุ่งหน้าบุกโลก ผู้มีหน้าตาอัปลักษณ์และโหดเหี้ยม มองข้ามห้วงอวกาศด้วยความอิจฉาตาร้อนมายัง ”โลกที่อบอุ่นกว่าของเรา อีกทั้งเขียวชอุ่มด้วยพืชพรรณและแซมแทรกด้วยสีเทาของผืนน้ำกับบรรยากาศที่มีเมฆปกคลุม และเมื่อมองผ่านกลุ่มเมฆที่ลอยฟ่องเกลื่อนฟ้าก็จะเห็นภาพของบ้านเมืองที่มีประชากรหนาแน่นทอดคลุมพื้นที่ไพศาล ไปจนถึงท้องทะเลที่คลาคล่ำไปด้วยกองเรือ„ ในครึ่งศตวรรษต่อจากนั้น ดาวอังคารในจินตนาการก็ทำหน้าที่คู่แฝดฝ่ายมืด คอยสะท้อนภาพความคับข้องใจ ความกระวนกระวาย และความขัดแย้งของโลก ประเด็นร้อนร่วมสมัย อาทิลัทธิล่าอาณานิคม ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ และการถลุงทรัพยากรธรรมชาติของภาคอุตสาหกรรม ล้วนได้รับการถ่ายทอดผ่านสารพัดเรื่องราวที่เล่าถึงดาวอังคารในอุดมคติ เช่น นวนิยายเรื่อง ออกจากดาวเคราะห์อันเงียบสงัด หรือOut of the Silent Planet (ปี 1938) ของ ซี. เอส. ลูอิส ที่เนรมิตดาวมาลาแคนดรา (Malacandra) อันพิสุทธิ์ขึ้น และชุดนิยายรักชาวดาวอังคารที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าของเอดการ์ ไรซ์ เบอร์โรส์ ที่แต่งให้ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่กำลังจะตาย เป็นแดนกันดารของชนหลากเผ่าพันธุ์ ซึ่งตามคำให้การของวีรบุรุษชาวโลกชื่อ จอห์น คาร์เตอร์ บอกว่า ชีวิตที่นั่น ”คือการดิ้นรนอย่างยากลำบากและอำมหิตเพื่อความอยู่รอด„ ไปจนถึงงานเขียนราวบทกวีอันมืดหม่นเรื่อง บันทึกดาวอังคารหรือ The Martian Chronicles (ปี 1950) ของเรย์ แบรดเบอรี ที่พูดถึงชาวดาวอังคารตัวซีด ผิวสีน้ำตาลนัยน์ตาเหลือง ผู้พบจุดจบเพราะการรุกรานของมนุษย์   แต่แล้วความพิสดารพันลึกประดามีของดาวอังคารก็พลันมลายไปสิ้นเพราะภาพถ่ายจากการบินเฉียดที่ระยะ 10,000 กิโลเมตรโดยยานมารีเนอร์ 4 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ปี 1965 บริเวณของดาวอังคารที่ถูกถ่ายด้วยกล้องดิจิทัลรุ่นบุกเบิกนั้นไร้ซึ่งคูคลอง ไม่มีวี่แววของบ้านเมืองและแหล่งน้ำ ดาวอังคารดูเหมือนดวงจันทร์มากกว่าโลก หลุม อุกกาบาตที่ดูสดใหม่บ่งว่าสภาพพื้นผิวไม่เคยเปลี่ยนแปลงมากว่า 3,000 ล้านปี ดาวเคราะห์ที่กำลังจะตายนั้น ความจริงได้ตายไปนานแล้วพอถึงปี 1969 ยานมารีเนอร์อีกสองลำที่ถูกส่งขึ้นไปบินเฉียดดาวอังคาร ส่งภาพกลับมา 57 ภาพ ซึ่งองค์การนาซารายงานว่า ”แสดงให้เห็นว่าดาวอังคารเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต เงียบเหงา หนาว แห้งแล้ง แทบไม่มีอากาศ และเป็นอันตรายต่อสรรพชีวิตที่มีความคล้ายคลึงกับสิ่งมีชีวิตบนโลก„ แต่ยานมารีเนอร์ 9 ซึ่งเป็นยานโคจรรอบที่ถูกส่งขึ้นไปในปี 1971 ใช้เวลา 146 วัน ส่งภาพถ่ายกลับมา 7,000 ภาพแสดงลักษณะภูมิประเทศอันหลากหลายและรุนแรงจนน่าแปลกใจ มีทั้งภูเขาไฟซึ่งลูกที่ใหญ่ที่สุดคือโอลิมปัสมอนส์นั้นสูงถึง 20 กิโลเมตร และระบบหุบผาชันวาลเลสมาริเนอริส ซึ่งถ้าอยู่ในโลกคงยาวพอๆกับระยะทางจากชายฝั่งตะวันออกถึงชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ลำธารอันแห้งผากและเกาะรูปหยดน้ำขนาดใหญ่เป็นหลักฐานว่าเคยมี ”การท่วม„ ครั้งใหญ่ในอดีต ซึ่งสิ่งที่ท่วมน่าจะเป็นน้ำ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตบนโลก พอถึงปี 1976 ยานลงจอดไวกิ้งสองลำก็ลงสู่พื้นผิวดาวอังคารโดยสวัสดิภาพ แต่การทดลองทางเคมีอันชาญฉลาดบนยานกลับให้คำตอบกำกวมเกี่ยวกับปริศนาชีวิตบนดาวอังคารจนกลายเป็นข้อถกเถียงที่ยังสรุปไม่ได้จนถึงปัจจุบันระหว่างนั้นความสนิทสนมของเรากับดาวอังคารในเชิงภูมิศาสตร์และธรณีวิทยาก็งอกงามขึ้นเรื่อยๆ ชัยชนะของรถสำรวจโซเจอร์เนอร์คันจิ๋วเมื่อปี 1997 ตามมาด้วยความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีกของรถสำรวจสปิริตและออปพอร์ทูนิตี ซึ่งทนทานกว่าเดิม ในปี 2004 ตลอดสี่ปีในการ เดินทางด้วยพลังแสงอาทิตย์บนดาวแดง หุ่นยนต์คู่แฝดได้ส่งภาพความละเอียดสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงหลายภาพที่แสดงให้เห็นหินตะกอนอย่างชัดเจนและบ่งชี้ว่าเคยมีทะเลในสมัยบรรพกาล ภาพถ่ายของความเปลี่ยวร้างสีอมแดงพาผู้ชมไปนั่งอยู่บนพื้นผิวดาว รอยล้อคดเคี้ยวที่ดูคล้ายขั้นบันไดของรถสปิริตและออปพอร์ทูนิตีบดผ่านพื้นหินและฝุ่น ซึ่งแทบจะไม่มีอะไรมารบกวนตลอดชั่วกาลนานภายใต้ท้องฟ้าสีส้มอมชมพูและดวงอาทิตย์แวววาวราวไข่มุก ความรกร้างอย่างเงียบงันทำให้อุบัติการแห่งความใคร่รู้และความมุ่งหมายอย่างเป็นระบบของเราดูองอาจเมื่อไม่นานมานี้ภารกิจของยานฟีนิกซ์ พร้อมด้วยแขนกลละเอียดอ่อนล้ำยุค ช้อนตัก กล้องถ่ายรูป และเครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆก็พาเราเจาะลงไปหลายเซนติเมตรใต้พื้นผิวฝุ่นทรายและน้ำแข็ง ณบริเวณขั้วเหนือของดาวอังคารสสารหลายช้อนจากดาวเคราะห์อีกดวง ซึ่งถูกเผาแยกองค์ประกอบทางเคมี ก่อนนำไปจัดลำดับและแยกประเภท จะกลายเป็นจุดอ้างอิงของประวัติศาสตร์แห่งจักรวาล พร้อมกันนั้นยานมาร์สรีคอนเนสเซนซ์ออร์บิเตอร์ (เอ็มอาร์โอ) ยานโคจรรอบที่ใหม่ที่สุดในจำนวนสามลำเหนือดาวอังคาร ก็ป้อนภาพถ่ายสีสดใสและคมชัดอย่างน่าทึ่งของลักษณะภูมิประเทศดาวอังคารเข้าสู่คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยแอริโซนาภาพสีผิด [false-color image — ภาพถ่ายที่แสดงสีของวัตถุต่างจากภาพใกล้เคียงสีจริง (true-color image) ที่ตามนุษย์เห็น] เหล่านี้บางภาพดูเหมือนภาพนามธรรมมาก แต่กลับอัดแน่นไปด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์สำหรับผู้ที่ดูออก ถึงตอนนี้ดาวเคราะห์ที่เชื่อกันมานานว่าตายไปแล้วดูเหมือนจะยังไม่แน่นิ่งเสียทีเดียว กล้องสามารถจับภาพการถล่มและพายุฝุ่นได้ และที่ขั้วดาว การระเหิดของน้ำแข็งแห้งก็ก่อให้เกิดการกร่อนและการเคลื่อนที่ เนินทรายย้ายที่ ลมบ้าหมูทิ้งรอยเส้นสีเข้มลงบนผืนแผ่นดินอันบอบบาง ไม่ว่าจะมีหลักฐานของจุลชีพหรือไลเคนปรากฏณ ดินแดนแสนไกลแห่งนี้หรือไม่ ดาวอังคารก็กลายเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ขึ้นเรื่อยๆและเป็นส่วนหนึ่งในขอบเขตความรู้ของมนุษย์ไปแล้วมโนภาพอันเลือนรางและชวนฝันของดาวเคราะห์แห่งไฟได้นำเราไปสู่ภาพมุมใกล้ของทิวทัศน์ที่งดงามเหนือจินตนาการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น